วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เคล็ดลับ 10 ข้อสำหรับการเตรียมสอบ CFA

ผู้เขียนมีความเชื่อส่วนตัวว่า คนที่สอบผ่าน CFA ทั้ง 3 ระดับ มี 2 จำพวก คือ พวกที่ Genius ตั้งแต่เกิด (ไม่ต้องอ่านเยอะก็สอบผ่านได้) และพวกที่ “อึด” ถ้าคุณเป็นคนกลุ่มหลัง ขอแนะนำเคล็ดลับการเตรียมสอบดังนี้

1. เริ่มก่อนได้เปรียบ เนื่องจากหลักสูตร CFA ในแต่ละระดับมีเนื้อหามาก และต้องการเวลาอ่านไม่ต่ำกว่า 250 ชั่วโมง จึงควรเผื่อเวลาอย่างน้อย 4 – 5 เดือนในการอ่านหนังสือ และเผื่ออีกอย่างน้อย 1 เดือนสำหรับการอ่านทบทวนและฝึกทำข้อสอบ สำหรับคนที่สอบเดือนมิถุนายน ควรเริ่มอ่านตั้งแต่เดือนมกราคม ส่วนคนที่สอบเดือนธันวาคม ควรเริ่มอ่านตั้งแต่เดือนมิถุนายน

2. จัดตารางอ่านทุกวัน หากเรามีเวลาอ่าน 5 เดือน ควรจะจัดเวลาอ่านอย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (โดยอาจแบ่งเป็น 1 ชั่วโมงต่อวันในวันทำงาน และ 7 ชั่วโมงสำหรับสุดสัปดาห์) การจัดตารางนี้ฟังดูเหมือนเข้มงวด แต่เนื่องจากเนื้อหา CFA ค่อนข้างยาก จำเป็นต้องอ่านต่อเนื่องเพื่อสร้างวินัยให้กับตัวเอง ทำให้เป็นกิจวัตรก็จะรู้สึกชินไปเอง มีวิธีหนึ่งที่หลายคนใช้แล้วได้ผล คือไปถึงที่ทำงานเช้าหน่อยเพื่อให้ได้อ่านก่อนเริ่มทำงานสัก 1 ชั่วโมง

3. อ่าน Textbook สำหรับคนที่สอบ Level 1 อ่าน study notes อย่าง Schweser อาจจะพอไหว แต่สำหรับ Level 2 และ 3 แนะนำให้อ่าน Textbook เพราะเนื้อหาค่อนข้างยากทำให้ study notes เก็บไม่หมด

4. ยึด LOS เป็นหลัก การอ่านไปเรื่อยๆ จะทำให้เสียเวลาและไม่รู้เป้าหมาย แนะนำให้ดู Learning Outcome Statement (LOS) ของ CFA Institute ซึ่งระบุหัวข้อที่เราต้องศึกษาในแต่ละ Session และอ่านเฉพาะเรื่องที่อยู่ใน LOS อย่าลืมว่าคนที่ออกข้อสอบไม่สามารถออกข้อสอบที่อยู่นอกเหนือ LOS ได้

5. ทำ Note ย่อ หลักสูตร CFA มีเนื้อหาเยอะและต้องใช้เวลาอ่านนานหลายเดือน ทำให้เกิดอาการ “ได้หน้าลืมหลัง” ควรทำ Note ย่อด้วยภาษาที่ตัวเองอ่านแล้วเข้าใจ ทำแล้วเก็บสะสมไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเดือนสุดท้ายก่อนสอบ ให้นำ Note มาทบทวน จะพบว่าเราสามารถเก็บเนื้อหาได้ครบถ้วน

6. ฝึกทำโจทย์เยอะๆ ควรทำ Practice problems ทุกข้อตามที่กำหนดไว้ใน reading assignments และควรฝึกทำโจทย์จากข้อสอบเก่า เพื่อให้รู้แนวข้อสอบและเพื่อให้ทำโจทย์เป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสอบคำนวณของ CFA นั้น การ “ท่อง” สูตรเข้าห้องสอบไม่ช่วยอะไรเลย

7. พกตำราติดตัวตลอดเวลา ในบางครั้งเราอาจจะต้องเดินทางไกล หรือนั่งรอพบลูกค้านานๆ ถ้าเรามีตำราติดตัวก็สามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

8. ทบทวนก่อนสอบ ขอย้ำอีกครั้งว่า ควรมีเวลาอย่างน้อย 2 – 4 สัปดาห์ก่อนสอบเพื่อทบทวน หลักสูตร CFA มีเนื้อหาเยอะ การอ่านทบทวนจะช่วยให้เราเก็บตกเนื้อหาได้ครบถ้วน

9. ทดลองทำข้อสอบ ช่วงเดือนสุดท้ายก่อนสอบ CFA Society of Thailand มีกิจกรรม Mock Exam ให้ทดลองทำข้อสอบในบรรยากาศที่เหมือนวันสอบจริง เพื่อประเมินความพร้อมของตัวเองและแก้ไขจุดที่บกพร่อง ที่สำคัญคือการฝึกเรื่อง “เวลา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่สอบครั้งแรกมักจะพบว่าทำข้อสอบไม่ทัน เราจึงควรฝึก Speed ของตัวเองให้พร้อมก่อนวันสอบจริง

10. ดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง ระวังอย่าให้ตัวเองเจ็บป่วยหรือมีความเครียด เพราะหากเกิดขึ้นแล้วจะเป็นอุปสรรคทำให้เรามีเวลาอ่านหนังสือได้น้อยลง ควรแบ่งเวลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้งๆ ละ 1 ชั่วโมงเพื่อออกกำลังกาย อย่าคิดว่าการออกกำลังกายทำให้เราเสียเวลาอ่านหนังสือ ในทางตรงข้าม นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่ายแล้ว ยังช่วยคลายเครียดจากการอ่านหนังสือ ทำให้อ่านได้นานขึ้นและมีสมาธิมากขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552

คุณสมบัติของนักบริหารเงินมืออาชีพ

การจะเป็นนักวิเคราะห์หรือผู้จัดการกองทุนมืออาชีพนั้น มีใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเป็นเพียงอย่างเดียวไม่พอ นักบริหารเงินมืออาชีพควรมีคุณสมบัติ 3 ประการ ดังนี้

1. มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางอย่างแท้จริง (Expert and Specialized Knowledge in the Field) คนที่จะเป็นนักวิเคราะห์หรือผู้จัดการกองทุนควรมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ และการบริหารกองทุน ซึ่งเป็นความรู้เฉพาะทางที่ต้องศึกษาทั้งจากการเรียนในห้องเรียนซึ่งเป็น Academic qualification และจากการสอบ CFA ซึ่งเป็นการสอบวัดความรู้เฉพาะทาง รวมทั้งต้องสอบผ่านหลักสูตรกฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพ ที่จริงแล้วการบังคับว่าต้องสอบผ่าน CFA ก็เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่จะก้าวเข้าสู่วิชาชีพนี้มีความรู้ครบถ้วนพร้อมที่จะปฏิบัติงานเป็นนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนได้

2. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ (Continuous Learning) แม้ว่าจะจบปริญญาโทแล้วและสอบ CFA ผ่านแล้ว การเรียนรู้ของเราไม่ควรจะหยุดอยู่แค่นั้น โลกของการบริหารเงินเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง นักบริหารเงินมืออาชีพจึงต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ด้วยการอ่านหนังสือ ติดตามข่าวสารทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เข้าฟังการสัมมนา ฯลฯ

3. ยึดมั่นในคุณธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด (High Standard of Professional Ethics) นักบริหารเงินมืออาชีพจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของเงินมาก่อนประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช้หน้าที่การงานหรือข้อมูลภายในของลูกค้าไปหาผลประโยชน์ ฯลฯ