วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

CISA คืออะไร

Certified Investment and Securities Analyst Program (CISA)

หากจะอธิบายให้ง่ายที่สุด CISA เปรียบเสมือน CFA ภาคภาษาไทย คือมีขั้นตอนต่างๆ เหมือนกับ CFA แต่ใช้ข้อสอบภาษาไทย และเนื่องจาก CISA เป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย จึงได้รับการยอมรับในประเทศไทยเท่านั้น (ต่างจาก CFA ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก)

CISA หรือ Certified Investment and Securities Analyst Program เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ด้านการวิเคราะห์และบริหารการลงทุนทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประเมินค่าสินทรัพย์เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน ประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุน รวมทั้งเปรียบเทียบการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ และเรียนรู้วิธีการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติวิชาชีพและจรรยาบรรณและหลักปฏิบัติวิชาชีพของการวิเคราะห์ เพื่อยกระดับมาตรฐานบุคลากรด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์และการจัดการลงทุนสู่สากล

การพัฒนาและดำเนินการหลักสูตร CISA จะยึดกรอบเนื้อหาของหลักสูตร CFA หรือ Chartered Financial Analyst ของ CFA Institute ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล โดยหลักสูตร CISA แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ระดับ 2 และระดับ 3 เช่นเดียวกับการสอบ CFA
ผมมักจะได้รับคำถามว่า ระหว่าง CFA กับ CISA สอบอะไรดี ผมขอตอบว่า หากไม่ห่วงว่าภาษาอังกฤษจะเป็นอุปสรรค การสอบ CFA ได้เปรียบกว่าในแง่การได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่หากเป็นห่วงเรื่องภาษาอังกฤษ การสอบ CISA ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

มีอีกประเด็นหนึ่งที่ผมได้รับฟังจากน้องๆ ที่เคยสอบ CISA คือ เนื่องจากหลักสูตร CISA ได้รับการพัฒนาตามกรอบของหลักสูตร CFA มีบางครั้งที่หลักสูตร CFA มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา แต่ตำรา CISA ปรับตามไม่ทัน ทำให้ผู้เข้าสอบ CISA ต้องอ่านตำรา CISA ที่เป็นภาษาไทยและตำรา CFA ที่เป็นภาษาอังกฤษควบคู่กันไป บางครั้งการอ่านตำราภาษาอังกฤษแล้วมาสอบข้อสอบภาษาไทยก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้

อย่างไรก็ดี CISA มีข้อได้เปรียบเรื่องค่าสมัครสอบที่ถูกกว่า CFA และแนวทางการสอบที่สามารถทยอยสอบให้ผ่านเป็นกลุ่มวิชาได้ (ต่างจาก CFA ที่ต้องสอบทุกวิชาในวันเดียว)

หน่วยงานที่จัดการอบรมและสอบ CISA คือ TSI ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Thailand Securities Institute (TSI)

Daniel J. Fuss, CFA – ตำนานผู้จัดการกองทุนแห่ง Loomis Sayles


ผมมี Role Model อยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น หนึ่งในนั้นเป็นผู้บริหารระดับ Vice Chairman ของ Loomis Sayles ชื่อ Dan Fuss และนับเป็นโชคดีของผมที่ Loomis Sayles เป็นหนึ่งในบริษัทจัดการกองทุนที่บริหารกองทุนต่างประเทศให้สำนักงานประกันสังคม จึงได้มีโอกาสพบปะกับคุณ Dan Fuss หลายครั้ง นับเป็นผู้จัดการกองทุนอาวุโสที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ด้านการลงทุนตราสารหนี้

Dan Fuss จบกันศึกษาระดับปริญญาตรีและโทด้านบริหารธุรกิจจาก Marquette University หลังจบการศึกษา Dan เข้าทำงานที่ธนาคารเล็กๆ แห่งหนึ่งในวิสคอนซิน ก่อนจะย้ายไปทำงานที่ Continental Bank of Chicago และร่วมงานกับ Loomis Sayles นับตั้งแต่ปี 1976 ถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน Dan Fuss มีอายุ 75 ปีแล้ว แต่ยังคงตื่นนอนตอนตีสี่ เดินเป็นระยะทาง 1 ไมล์เพื่อขึ้นรถไฟเที่ยว 6 โมงเช้ามาทำงานที่ Loomis ทุกวัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ Dan มีกิจวัตรประจำวันเช่นนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 50 ปีที่เขาทำงานในตำแหน่งผู้จัดการกองทุน

นอกจากจะไม่เคยเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันแล้ว Dan Fuss ยังเชื่อมั่นในแนวทางการลงทุนของตนเองเสมอไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยเขาเชื่อว่า การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนในระยะยาวให้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แต่ผู้จัดการกองทุนจะต้องทำการบ้านเป็นอย่างดีเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและเฟ้นหาหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมแต่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า

Dan Fuss มีผลงานโดดเด่นในฐานะผู้จัดการกองทุน Bond Fund (LSBDX) ของ Loomis Sayles ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศสหรัฐอเมริกา กองทุนดังกล่าวให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง (Institutional Class, สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2554) มากถึง 10.02% ต่อปี สูงกว่าดัชนีอ้างอิงที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.74% ต่อปี และได้รับการจัดอันดับจาก Lipper ให้เป็นกองทุนที่มีผลงานดีเด่นในรอบ 10 ปี ลำดับที่ 3 จากทั้งหมด 71 กองทุน