มีผู้ที่ได้รับคุณวุฒิ CFA คนแรกในปี ค.ศ. 1963 นับถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบ 50 ปี มีผู้ที่ได้รับคุณวุฒิ CFA จำนวนทั้งสิ้น 98,000 คนใน 138 ประเทศทั่วโลก สถาบันที่จัดการสอบและมอบคุณวุฒินี้มีชื่อว่า CFA Institute
ในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย CFA เป็นหลักสูตรเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นผู้วิเคราะห์หลักทรัพย์ (Securities Analyst) และผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้จัดการกองทุนนั้น จำเป็นต้องสอบผ่าน CFA ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้*
ในด้านเนื้อหา หลักสูตร CFA เป็นการปูพื้นฐานด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์และการบริหารกองทุนที่ใช้ได้จริงในธุรกิจการจัดการกองทุน มีระดับความยากเทียบเท่ากับหลักสูตรที่สูงกว่าปริญญาตรี (graduate level curriculum) และไม่ได้เน้นเพียงความรู้ด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังเน้นการยึดถือบฎิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
เป้าหมายของการสอบ CFA ก็เพื่อเป็นการปูทางไปสู่วิชาชีพด้านการบริหารกองทุน (investment profession) เนื่องจาก CFA เป็นคุณวุฒิที่มีมาตรฐานสูงและได้รับการยอมรับระดับสากล จึงได้รับการยกย่องจาก The Economist ว่าเป็น Gold Standard
จุดเริ่มต้นที่ของการเข้าสู่หลักสูตรนี้คือการลงทะเบียนและสมัครสอบ CFA โดยจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือ
- เป็นนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของหลักสูตรระดับปริญญาตรี หรือ
- มีประสบการณ์ทำงาน (ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการลงทุน) เป็นเวลา 4 ปี
ทุกๆ ปีจะมีการสอบ CFA ทั้ง 3 ระดับปีละ 1 ครั้งพร้อมกันทั่วโลกในราวต้นเดือนมิถุนายน (ยกเว้นการสอบระดับ 1 ซึ่งจะมีการสอบปีละ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในเดือนมิถุนายน และครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคม) ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1.5 ปี จึงจะจบหลักสูตร แต่คนส่วนใหญ่ใช้เวลาเฉลี่ย 4 ปี ผลการสอบไม่มีวันหมดอายุ และผู้เข้าสอบที่สอบไม่ผ่านสามารถสมัครสอบซ้ำได้อีกไม่จำกัดจำนวนครั้ง
ผู้ที่จะมีสิทธิได้รับ CFA Charter จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- สอบผ่าน CFA ระดับ 3
- มีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเป็นเวลา 4 ปี
- ยอมรับและถือปฏิบัติมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ
- เป็นสมาชิกของ CFA Institute
- เป็นสมาชิกสมาคม CFA (ในประเทศไทย มีสมาคม CFA Society of Thailand)