วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557


เรามาดูข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ CFA ในประเทศไทยกันครับ

  • บุคคลแรกที่ได้รับ CFA Charter ในประเทศไทย : Mr. Peter Foo Moo Tan, CFA ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง President & CEO of UOB (Thai) Public Co Ltd โดยได้รับ Charter ในปี 1991
  • จำนวน CFA Charterholders ในปัจจุบัน : 308 คน
  • ปีที่มีผู้ได้รับ Charter มากที่สุด : ปี 2012 จำนวน 39 คน
  • หน่วยงานเอกชนที่มีพนักงานเป็น CFA Charterholders มากที่สุด : Kasikorn Group จำนวน 24 คน (นับรวมทั้ง ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และบริษัทอื่นในเครือ)
  • หน่วยงานรัฐที่มีพนักงานเป็น CFA Charterholders มากที่สุด : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จำนวน 7 คน
สำรวจข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2556

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556


ในบรรดาสายงานอาชีพด้านการเงินนั้น มีบางตำแหน่งงานที่ต้องได้รับความเห็นชอบครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ต้องการทำงานเป็น
1. ผู้แนะนำการลงทุน (หรือ เจ้าหน้าที่การตลาด)
2. นักวิเคราะห์หลักทรัพย์
3. ผู้จัดการกองทุน

เราจัดให้งานเหล่านี้เป็น “วิชาชีพ” เพราะเป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการ “ดูแลบริหารเงินของลูกค้า” จึงเป็นงานที่ต้องการคนที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง ต้องผ่านการทดสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และในบางกรณี บังคับว่าต้องมีประสบการณ์ทำงานด้วยครับ

จากสถิติ ณ สิ้นปี 2555 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ด้านต่างๆ ดังนี้
- ได้รับความเห็นชอบให้เป็น “ผู้จัดการกองทุน” ประมาณ 400 คน
- ได้รับความเห็นชอบให้เป็น “นักวิเคราะห์การลงทุน” ทั้งด้านตลาดทุน ด้านหลักทรัพย์ และด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมกันประมาณ 1,100 คน
- ได้รับความเห็นชอบให้เป็น “ผู้แนะนำการลงทุน” ทั้งด้านตลาดทุน ด้านหลักทรัพย์ ด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ด้านกองทุน ฯลฯ รวมกันประมาณ 34,000 คน

ถ้าอยากรู้ว่า การได้รับความเห็นชอบต้องทำอย่างไรบ้าง ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ ^_^

วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

เส้นทางอาชีพของนักการเงิน

โดย คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ


คนที่เรียนบริหารธุรกิจและมีวิชาเอกคือวิชาการเงิน สามารถเลือกเส้นทางอาชีพสายตรงได้ 4 สายหลักๆ คือ สายการธนาคาร (Banking) การเงินของบริษัท (Corporate Finance) สายหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ (Securities and Investment Banking) และสายจัดการลงทุน (Fund Management)

สายการธนาคาร เป็น สายที่นักการเงินคุ้นเคยมากที่สุด และเป็นสายงานที่เก่าแก่ที่สุด สมัยที่ดิฉันอยู่ต่างจังหวัด ใครได้ทำงานธนาคารถือว่าโก้สุดๆ ได้สวมเสื้อเชิ้ตสีขาว ผูกเนกไท ได้นั่งทำงานในสถานที่ที่โอ่โถง ภูมิฐาน และไปพบลูกค้าลูกค้าก็จะต้อนรับทักทายปราศรัยด้วยเป็นอย่างดี สายนี้จะเน้นหน้าที่หลักคือปล่อยสินเชื่อ ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์เครดิต การวิเคราะห์ธุรกิจและโครงการ รวมถึงการจัดวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้า ผู้ทำหน้าที่นี้อาจเรียนจบเศรษฐศาสตร์แล้วมาฝึกฝนเรียนรู้ในงานก็ได้

นอกจากการปล่อยสินเชื่อแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งที่ต้องอาศัยผู้มีความรู้ทางด้านการเงินคือ สายบริหารเงิน ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการเป็นดีลเลอร์ และเทรดเดอร์ด้วย กลุ่มนี้จะต้องคิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว เพราะมีโอกาสทำกำไร หรือทำให้ขาดทุนได้ ส่วนใหญ่ผู้ทำงานด้านนี้มักจะมีทักษะทางคณิตศาสตร์ดีมาก และในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา นิยมรับผู้จบปริญญาโททางการเงิน ที่มีพื้นฐานปริญญาตรีทางวิศวกรรม สันนิษฐานว่า เกิดจากการที่ธนาคารกสิกรไทยส่งนักเรียนทุนที่จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ ไปเรียนปริญญาโททางด้านการเงิน แล้วกลับมาทำงานบริหารเงินได้ดี

คนอาจจะสงสัยว่า หน้าที่อื่นๆ เช่น หาเงินฝากหรือดูแลด้านอื่นๆ ในธนาคาร ไม่จำเป็นต้องจบการเงินหรือไฉน ก็ต้องขอตอบตามที่สังเกตมาว่า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านอื่นๆ นั้น อาจจะจบทางด้านเศรษฐศาสตร์ บัญชีการตลาด กฎหมาย หรือทางด้านสังคมศาสตร์อื่นๆ ก็ได้ค่ะ

การเงินของบริษัท คือผู้ที่ทำหน้าที่กระเป๋าเงินให้กับองค์กรธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร หรือไม่แสวงหาผลกำไร หน้าที่ก็มีตั้งแต่จัดหาเงินมาใช้ในการดำเนินกิจการ ซึ่งมีทางเลือกหลักๆ คือ ใช้ส่วนของทุน (Equity) ใช้เงินกู้ยืม (Debt) หรือใช้เครดิตทางการค้า (Supplier’s Credit) ส่วนที่ใช้ตราสารใหม่ๆ ก็จะแทรกอยู่ในหมวดหลักๆ เหล่านี้ทั้งนั้นค่ะ เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ ก็เป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) ก็เป็นอนุพันธ์ของตราสารทุน เป็นต้น

นอกจากการจัดหาเงินแล้วก็ต้องดูแลการใช้เงิน และจ่ายเงิน เช่น การซื้อวัตถุดิบ การควบคุมจำนวนสินค้าระหว่างผลิต การควบคุมลูกหนี้การค้าในกรณีที่มีการให้เทอมเครดิตกับผู้ซื้อ และการจัดเก็บหนี้ให้มีประสิทธิภาพ

ผู้ทำหน้าที่ดูแลการเงินของบริษัท ถ้าเป็นในสมัยก่อนที่เป็นธุรกิจครอบครัว ก็อาจจะเป็นเถ้าแก่เนี้ย คือภรรยาของเจ้าของกิจการดูแลเอง สมัยนี้ตำแหน่งสูงสุดก็เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารทางการเงิน (Chief Financial Officer) ซึ่งในหลายๆ องค์กรก็เป็นผู้หญิง ตำแหน่งทางการเงินนี้ มักจะเป็นตำแหน่งที่เป็นหมายเลขสองขององค์กร เพราะเป็นผู้กุมกระเป๋าเงินค่ะ

สายหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ ใน ยุคใดที่ตลาดหุ้นรุ่งเรือง ผู้ทำงานในสายนี้จะเป็นมนุษย์ทองคำกันเลยทีเดียว ได้โบนัสกันเป็นจำนวนเดือนที่เป็นเลขสองหลัก ทำให้สายนี้ดึงดูดผู้คนเข้ามาทำงานกันมากมายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ชีวิตมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยามตลาดซบเซาก็ได้รับซองขาวให้จากไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทเช่นกัน

ส่วนใหญ่ผู้ที่เรียนจบด้านการเงินจะเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ (Securities Analyst) และเป็นวาณิชธนากร (Investment Banker) หน้าที่ของวาณิชธนากรนี่กว้างมากเช่นกัน ทำได้ตั้งแต่ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในการจัดโครงสร้างทางการเงิน หรือทำหน้าที่ด้าน Corporate Finance เนื่องจากบริษัทบางแห่งจะมีขนาดใหญ่โต มีความต้องการทางการเงินหลากหลาย ผู้ทำหน้าที่ดูแลการเงินของบริษัทในสายงานกลุ่มที่สองที่กล่าวถึงเบื้องต้น อาจไม่สามารถดูแล ตัดสินใจได้ ต้องอาศัยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

วาณิชธนากรยังให้คำปรึกษาในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และนำหุ้นออกเสนอขายให้กับประชาชน (IPO) โดยจะช่วยทำเอกสาร ช่วยประเมินมูลค่าหุ้น ช่วยนำเสนอต่อผู้ลงทุน และอาจจะช่วยดูแลหุ้นหลังจากเข้าไปทำการซื้อขายในตลาดแล้วสักระยะหนึ่ง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการและการควบรวมกิจการอีกด้วย

สายจัดการลงทุน แต่เดิมการจัดการลงทุนเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์กรที่มีเงินเหลือ เช่น ธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารจะบริหารสภาพคล่องส่วนเกิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสายบริหารเงิน และในบางครั้งก็อาจมีการพิจารณาลงทุนในบริษัทต่างๆ บ้างเมื่อมีผู้เสนอให้ลงทุน นอกจากนี้ กลุ่มจัดการลงทุนนี้ ยังทำหน้าที่อยู่ในสถาบันต่างๆ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย มหาวิทยาลัย องค์กรเพื่อการกุศล และบริษัทหรือบุคคลต่างๆ ที่มีเงินให้บริหารจัดการ เพื่อหารายได้จากการลงทุน กลุ่มนี้จะเป็นการบริหารเงินลงทุนเพื่อองค์กร (Proprietary Investment)

สายการจัดการลงทุนเพื่อบุคคลอื่นนั้น เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากทางการได้เพิ่มใบอนุญาตจัดการลงทุน จากเดิมที่มีเพียง 1 บริษัท เป็น 8 บริษัท จดกระทั่งในปัจจุบันมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน ทั้งกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวม 30 บริษัท ถือว่าไม่น้อยทีเดียว

งานของนักการเงินในสายจัดการลงทุนนี้ จะเป็นงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมและวิเคราะห์หลักทรัพย์ และที่คนมองว่าเป็นหัวใจคือ การจัดการลงทุน จริงๆ แล้วต้องทำงานเป็นทีมค่ะ การวิเคราะห์ก็มีความสำคัญมาก หากวิเคราะห์ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะเสียโอกาส หรืออาจจะเสียเงิน และยิ่งเป็นเงินของผู้อื่นแล้ว ยิ่งมีความเครียดและกดดันมากกว่าการบริหารเงินของตนเองเป็นอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นงานในสายใด ทั้งสี่สายนี้ต่างก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์ และความรอบคอบทั้งนั้น เนื่องจากต้องทำเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ข้อผิดพลาดจึงเป็นเรื่องใหญ่ คงต้องนำไปเขียนต่อสัปดาห์หน้าแล้วล่ะค่ะ ว่าหากจะเลือกทำงานในสายต่างๆ ที่ว่ามานี้ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร จะเตรียมตัวอย่างไร และควรจะเลือกเรียนวิชาใดเป็นการเฉพาะเจาะจง

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

CFA คือ อะไร

Chartered Financial Analyst (CFA) เป็นคุณวุฒิทางด้านวิชาชีพการเงินและการลงทุนระดับสากล ผู้ที่ผ่านการทดสอบและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดจะมีสิทธิได้รับ CFA Charter และได้รับการยกย่องให้เป็น CFA Charterholder

มีผู้ที่ได้รับคุณวุฒิ CFA คนแรกในปี ค.ศ. 1963 นับถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบ 50 ปี มีผู้ที่ได้รับคุณวุฒิ CFA จำนวนทั้งสิ้น 98,000 คนใน 138 ประเทศทั่วโลก สถาบันที่จัดการสอบและมอบคุณวุฒินี้มีชื่อว่า CFA Institute

ในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย CFA เป็นหลักสูตรเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นผู้วิเคราะห์หลักทรัพย์ (Securities Analyst) และผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้จัดการกองทุนนั้น จำเป็นต้องสอบผ่าน CFA ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้*

ในด้านเนื้อหา หลักสูตร CFA เป็นการปูพื้นฐานด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์และการบริหารกองทุนที่ใช้ได้จริงในธุรกิจการจัดการกองทุน มีระดับความยากเทียบเท่ากับหลักสูตรที่สูงกว่าปริญญาตรี (graduate level curriculum) และไม่ได้เน้นเพียงความรู้ด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังเน้นการยึดถือบฎิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด

เป้าหมายของการสอบ CFA ก็เพื่อเป็นการปูทางไปสู่วิชาชีพด้านการบริหารกองทุน (investment profession) เนื่องจาก CFA เป็นคุณวุฒิที่มีมาตรฐานสูงและได้รับการยอมรับระดับสากล จึงได้รับการยกย่องจาก The Economist ว่าเป็น Gold Standard

จุดเริ่มต้นที่ของการเข้าสู่หลักสูตรนี้คือการลงทะเบียนและสมัครสอบ CFA โดยจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
  • จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือ 
  • เป็นนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของหลักสูตรระดับปริญญาตรี หรือ 
  • มีประสบการณ์ทำงาน (ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการลงทุน) เป็นเวลา 4 ปี 
เมื่อสมัครเข้าโครงการ ผู้สมัครจะถูกเรียกว่า CFA Candidate จะเข้าสู่กระบวนการการศึกษาเนื้อหาต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และต้องผ่านการทดสอบวัดความรู้ทั้งหมด 3 ระดับ โดยต้องสอบทีละระดับ คือ เมื่อผ่านระดับ 1 จึงมีสิทธิสอบระดับ 2 และสอบผ่านระดับ 2 จึงมีสิทธิสอบระดับ 3 ไม่สามารถกระโดดข้ามได้

ทุกๆ ปีจะมีการสอบ CFA ทั้ง 3 ระดับปีละ 1 ครั้งพร้อมกันทั่วโลกในราวต้นเดือนมิถุนายน (ยกเว้นการสอบระดับ 1 ซึ่งจะมีการสอบปีละ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในเดือนมิถุนายน และครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคม) ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1.5 ปี จึงจะจบหลักสูตร แต่คนส่วนใหญ่ใช้เวลาเฉลี่ย 4 ปี ผลการสอบไม่มีวันหมดอายุ และผู้เข้าสอบที่สอบไม่ผ่านสามารถสมัครสอบซ้ำได้อีกไม่จำกัดจำนวนครั้ง

ผู้ที่จะมีสิทธิได้รับ CFA Charter จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
  1. สอบผ่าน CFA ระดับ 3 
  2. มีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเป็นเวลา 4 ปี 
  3. ยอมรับและถือปฏิบัติมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ 
  4. เป็นสมาชิกของ CFA Institute 
  5. เป็นสมาชิกสมาคม CFA (ในประเทศไทย มีสมาคม CFA Society of Thailand)  
*มียกเว้นข้อเดียว คือ บุคคลผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้จัดการกองทุนจากองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ แล้วมาขอขึ้นทะเบียนเพื่อเป็นผู้จัดการกองทุนในประเทศไทย

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

CISA คืออะไร

Certified Investment and Securities Analyst Program (CISA)

หากจะอธิบายให้ง่ายที่สุด CISA เปรียบเสมือน CFA ภาคภาษาไทย คือมีขั้นตอนต่างๆ เหมือนกับ CFA แต่ใช้ข้อสอบภาษาไทย และเนื่องจาก CISA เป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย จึงได้รับการยอมรับในประเทศไทยเท่านั้น (ต่างจาก CFA ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก)

CISA หรือ Certified Investment and Securities Analyst Program เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ด้านการวิเคราะห์และบริหารการลงทุนทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประเมินค่าสินทรัพย์เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน ประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทนจากการลงทุน รวมทั้งเปรียบเทียบการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ และเรียนรู้วิธีการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติวิชาชีพและจรรยาบรรณและหลักปฏิบัติวิชาชีพของการวิเคราะห์ เพื่อยกระดับมาตรฐานบุคลากรด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์และการจัดการลงทุนสู่สากล

การพัฒนาและดำเนินการหลักสูตร CISA จะยึดกรอบเนื้อหาของหลักสูตร CFA หรือ Chartered Financial Analyst ของ CFA Institute ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล โดยหลักสูตร CISA แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ระดับ 2 และระดับ 3 เช่นเดียวกับการสอบ CFA
ผมมักจะได้รับคำถามว่า ระหว่าง CFA กับ CISA สอบอะไรดี ผมขอตอบว่า หากไม่ห่วงว่าภาษาอังกฤษจะเป็นอุปสรรค การสอบ CFA ได้เปรียบกว่าในแง่การได้รับการยอมรับในระดับสากล แต่หากเป็นห่วงเรื่องภาษาอังกฤษ การสอบ CISA ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

มีอีกประเด็นหนึ่งที่ผมได้รับฟังจากน้องๆ ที่เคยสอบ CISA คือ เนื่องจากหลักสูตร CISA ได้รับการพัฒนาตามกรอบของหลักสูตร CFA มีบางครั้งที่หลักสูตร CFA มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา แต่ตำรา CISA ปรับตามไม่ทัน ทำให้ผู้เข้าสอบ CISA ต้องอ่านตำรา CISA ที่เป็นภาษาไทยและตำรา CFA ที่เป็นภาษาอังกฤษควบคู่กันไป บางครั้งการอ่านตำราภาษาอังกฤษแล้วมาสอบข้อสอบภาษาไทยก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้

อย่างไรก็ดี CISA มีข้อได้เปรียบเรื่องค่าสมัครสอบที่ถูกกว่า CFA และแนวทางการสอบที่สามารถทยอยสอบให้ผ่านเป็นกลุ่มวิชาได้ (ต่างจาก CFA ที่ต้องสอบทุกวิชาในวันเดียว)

หน่วยงานที่จัดการอบรมและสอบ CISA คือ TSI ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Thailand Securities Institute (TSI)

Daniel J. Fuss, CFA – ตำนานผู้จัดการกองทุนแห่ง Loomis Sayles


ผมมี Role Model อยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น หนึ่งในนั้นเป็นผู้บริหารระดับ Vice Chairman ของ Loomis Sayles ชื่อ Dan Fuss และนับเป็นโชคดีของผมที่ Loomis Sayles เป็นหนึ่งในบริษัทจัดการกองทุนที่บริหารกองทุนต่างประเทศให้สำนักงานประกันสังคม จึงได้มีโอกาสพบปะกับคุณ Dan Fuss หลายครั้ง นับเป็นผู้จัดการกองทุนอาวุโสที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ด้านการลงทุนตราสารหนี้

Dan Fuss จบกันศึกษาระดับปริญญาตรีและโทด้านบริหารธุรกิจจาก Marquette University หลังจบการศึกษา Dan เข้าทำงานที่ธนาคารเล็กๆ แห่งหนึ่งในวิสคอนซิน ก่อนจะย้ายไปทำงานที่ Continental Bank of Chicago และร่วมงานกับ Loomis Sayles นับตั้งแต่ปี 1976 ถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน Dan Fuss มีอายุ 75 ปีแล้ว แต่ยังคงตื่นนอนตอนตีสี่ เดินเป็นระยะทาง 1 ไมล์เพื่อขึ้นรถไฟเที่ยว 6 โมงเช้ามาทำงานที่ Loomis ทุกวัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ Dan มีกิจวัตรประจำวันเช่นนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 50 ปีที่เขาทำงานในตำแหน่งผู้จัดการกองทุน

นอกจากจะไม่เคยเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันแล้ว Dan Fuss ยังเชื่อมั่นในแนวทางการลงทุนของตนเองเสมอไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยเขาเชื่อว่า การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนในระยะยาวให้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แต่ผู้จัดการกองทุนจะต้องทำการบ้านเป็นอย่างดีเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและเฟ้นหาหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมแต่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า

Dan Fuss มีผลงานโดดเด่นในฐานะผู้จัดการกองทุน Bond Fund (LSBDX) ของ Loomis Sayles ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศสหรัฐอเมริกา กองทุนดังกล่าวให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง (Institutional Class, สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2554) มากถึง 10.02% ต่อปี สูงกว่าดัชนีอ้างอิงที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.74% ต่อปี และได้รับการจัดอันดับจาก Lipper ให้เป็นกองทุนที่มีผลงานดีเด่นในรอบ 10 ปี ลำดับที่ 3 จากทั้งหมด 71 กองทุน

วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553

ปฎิทินกิจกรรมสำหรับ CFA Candidates

สำหรับน้องๆ ที่เตรียมตัวสอบ CFA Level 1 ในเดือน June นี้ คอยติดตามกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ครับ

25 April 2010 - CFA Level 1 Study Group เป็นการติวเข้มก่อนสอบ โดยพี่ๆ จากสมาคม CFA Soceity of Thailand ค่าสมัครเพียง 900 บาทเท่านั้น (หากสมัคร online ภายในวันที่ 22 April) รีบหน่อยนะครับ จำกัดจำนวนเพียง 80 ท่านเท่านั้น

Mid May - Practice Exam for Level 1,2 and 3 เป็นการทดลองสอบโดยจำลองบรรยากาศให้ใกล้เคียงกับการสอบจริงมากที่สุด เพื่อให้น้องๆ ได้ประเมินความพร้อมของตัวเองและรีบแก้ไขจุดบกพร่องก่อนการไปสอบจริง

สำหรับน้องๆ ที่เตรียมสอบ CFA ทั้ง 3 Level ในปีหน้า (June 2011) คอยติดตามการประกาศรับสมัคร CFA Scholarship Program โดยทางสมาคมมีทุนให้น้องๆ ปีละ 10 ทุน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการสอบ CFA คาดว่าจะเปิดรับสมัครในเดือนตุลาคม คอยติดตามข่าวนะครับ

ติดตามรายละเอียดได้ที่ CFA Society of Thailand